ประวัติจีน ไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นแค่การข่มขู่หรือการบุกรุกที่เป็นการคุกคามอย่างแท้จริง กิจกรรมทางทหารที่เพิ่มมากขึ้นของจีนในไต้หวันตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ได้สร้างความกังวลให้กับคนทั่วโลก ประเด็นสำคัญของความแตกแยกนี้คือ รัฐบาลจีนเห็นว่า ไต้หวันเป็นมณฑลที่แยกตัวออกไปของจีน และสุดท้ายจะกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีนอีกครั้ง ส่วนชาวไต้หวันจำนวนมากไม่เห็นด้วย พวกเขารู้สึกว่า ในทางปฏิบัติแล้ว พวกเขาคือชาติที่แยกตัวออกไป ไม่ว่าจะเคยมีการประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม
ประวัติจีน ไต้หวัน ความขัดแย้งนี้มีความเป็นมาอย่างไร
ประวัติจีน ไต้หวัน ย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้น คนที่เข้ามาตั้งรกรากในไต้หวันกลุ่มแรกคือชนเผ่าออสโตรนีเซียน (Austronesian) ซึ่งเชื่อว่า มาจากทางใต้ของจีนในปัจจุบัน เกาะไต้หวันดูเหมือนจะปรากฏอยู่ในบันทึกของจีนครั้งแรกในปี ค.ศ. 239 เมื่อจักรพรรดิจีนทรงส่งกองกำลังออกไปสำรวจทะเล ซึ่งเป็นเรื่องที่จีนใช้ในการสนับสนุนการอ้างกรรมสิทธิ์ทางเขตแดนของจีนด้วย หลังจากที่ตกเป็นอาณานิคมของดัตช์เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ (1624-1661) ราชวงศ์ชิงของจีนได้ปกครองไต้หวันระหว่างปี 1683-1895
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เริ่มมีผู้อพยพเข้ามาจำนวนมากจากจีน ส่วนใหญ่มักจะเป็นการหนีความวุ่นวายหรือชีวิตที่ยากลำบาก ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนจากมณฑลฝูเจี้ยน หรือ ชาวจีนแคะซึ่งส่วนใหญ่มาจากมณฑลกวางตุ้ง ผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากผู้อพยพ 2 กลุ่มนี้คือกลุ่มประชากรที่ใหญ่ที่สุดของเกาะไต้หวันในปัจจุบัน ในปี 1895 ญี่ปุ่นชนะสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (First Sino-Japanese War) และรัฐบาลของราชวงศ์ชิงต้องยอมยกไต้หวันให้แก่ญี่ปุ่น หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นยอมแพ้และสละการปกครองดินแดนไต้หวันที่ได้มาจากจีน สาธารณรัฐจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เริ่มปกครองไต้หวันโดยได้รับความยินยอมจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นชาติพันธมิตร แต่ในอีก 2-3 ปี ต่อมา ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในจีน และกองทัพคอมมิวนิสต์ของเหมา เจ๋อตุง ได้โจมตีทหารของเจียง ไคเชก (ภาษาจีนกลางออกเสียงว่า เจี่ยง เจี้ยสือ) ผู้นำในขณะนั้น
นายเจียง และสมาชิกรัฐบาลก๊กมินตั๋งที่เหลืออยู่ของเขาได้หนีไปไต้หวันในปี 1949 คนกลุ่มนี้ซึ่งถูกเรียกว่า ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ และขณะนั้นมีอยู่ประมาณ 1.5 ล้านคน มีอิทธิพลเหนือการเมืองไต้หวันนานหลายปี แม้ว่าจะมีสัดส่วนเพียง 14% ของประชากรไต้หวัน การที่นายเจี่ยง จิงกว๋อ บุตรชายของเจียง ไคเชก สืบทอดความเป็นเผด็จการทำให้เขาเผชิญกับการต่อต้านจากคนท้องถิ่นที่ไม่พอใจกับการปกครองแบบรวบอำนาจและเผชิญกับแรงกดดันจากขบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้นายเจี่ยง จิงกว๋อ เริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยขึ้น
ประธานาธิบดีหลี่ เติงฮุย หรือที่รู้จักกันว่า เป็น “บิดาแห่งประชาธิปไตย” ของไต้หวัน ได้เป็นผู้นำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่การวางพื้นฐานทางการเมืองในการเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จนในที่สุดก็ทำให้เกิดการเลือกตั้งที่ได้ประธานาธิบดีที่ไม่ได้มาจากพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang—KMT) คนแรกของไต้หวันคือ นายเฉิน สุยเปี่ยน ในปี 2000
“หนึ่งประเทศ สองระบบ”
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวันเริ่มพัฒนาขึ้นในยุคทศวรรษ 1980 จีนเดินหน้าหลักการที่เรียกว่า “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งไต้หวันจะได้รับอำนาจในการปกครองตนเอง ถ้ากลับมารวมประเทศกับจีน ระบบนี้ได้นำมาใช้กับฮ่องกงก่อน เพื่อที่จะโน้มน้าวให้ชาวไต้หวันกลับมาสู่จีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวันปฏิเสธข้อเสนอนี้ แต่ก็ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในการเดินทางและการลงทุนในจีน ในปี 1991 ไต้หวันได้ประกาศด้วยว่า สงครามกับสาธารณรัฐประชาชนจีนบนแผ่นดินใหญ่ได้ยุติลงแล้ว นอกจากนี้ยังมีการเจรจากันอย่างจำกัดเกิดขึ้นหลายครั้งระหว่างผู้แทนอย่างไม่เป็นทางการของทั้งสองฝ่าย แต่การยืนกรานของรัฐบาลจีนที่ว่า รัฐบาลสาธารณรัฐจีน (Republic of China–ROC) ของไต้หวัน ไม่มีความชอบธรรม ทำให้การหารือกันระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้
ในปี 2000 เมื่อไต้หวันเลือกนายเฉิน สุยเปี่ยน เป็นประธานาธิบดี รัฐบาลปักกิ่งเริ่มระวังตัว เพราะนายเฉินสนับสนุน “การเป็นเอกราช” อย่างเปิดเผย 1 ปีหลังจากนายเฉิน ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อไปในปี 2004 จีนได้ผ่านกฎหมายที่เรียกว่า กฎหมายต่อต้านการแยกตัว ซึ่งบัญญัติไว้ว่า จีนมีสิทธิใช้ “วิธีการไม่สันติ” ต่อไต้หวันได้ ถ้าไต้หวันพยายาม “แยกตัว” ออกจากจีน หลังจากนายหม่า อิงจิ่ว ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันต่อจากนายเฉินในปี 2008 เขาได้พยายามพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนผ่านข้อตกลงทางเศรษฐกิจต่าง ๆ
8 ปีต่อมา ในปี 2016 ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน คนปัจจุบันของไต้หวันได้รับเลือกตั้ง เธอเป็นหัวหน้าพรรคเดโมแครติกโปรเกรสซีฟ หรือ ประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party–DPP) ซึ่งมีความโน้มเอียงไปทางด้านความต้องการเป็นเอกราชจากจีน หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 นางไช่ได้พูดคุยกับเขาผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนนโยบายสหรัฐฯ ที่ตั้งขึ้นในปี 1979 ซึ่งมีการตัดขาดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการขึ้น แม้ว่าจะไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ สหรัฐฯ ได้รับปากว่า จะจัดหาอาวุธป้องกันตัวให้กับไต้หวัน และเน้นย้ำว่า การโจมตีใด ๆ จากจีน จะทำให้เกิด “ปัญหาที่ใหญ่หลวง”
ตลอดปี 2018 จีนได้เพิ่มการกดดันต่อบริษัทระหว่างประเทศ บังคับให้พวกเขาต้องระบุว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนบนหน้าเว็บไซต์และขู่ว่า จะปิดกั้นการทำธุรกิจในจีน ถ้าไม่ยอมปฏิบัติตาม นางไช่ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ในปี 2020 แต่ในเวลานั้น ฮ่องกงเกิดความไม่สงบขึ้นมาเป็นเวลานานหลายเดือนแล้ว โดยผู้ประท้วงต่อต้านอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของจีนแผ่นดินใหญ่ ชาวไต้หวันจำนวนมากจับตามองเหตุการณ์นี้อย่างใกล้ชิด ต่อมาในปีเดียวกัน จีนได้บังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง ทำให้ถูกมองว่า เป็นอีกสัญญาณหนึ่งว่า รัฐบาลจีนมีความมั่นใจมากขึ้นในภูมิภาค
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ได้เข้าหาไต้หวันมากขึ้นและให้ความมั่นใจกับรัฐบาลไต้หวันว่า จะสนับสนุนต่อไป เมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศระดับสูงสุดในรอบหลายสิบปีไปเยือนไต้หวันด้วย รัฐบาลจีนวิพากษ์วิจารณ์การหารือนี้อย่างรุนแรง โดยเตือนสหรัฐฯ ว่า “อย่าส่งสัญญาณที่ผิดใด ๆ เกี่ยวกับ ‘การเป็นเอกราชของไต้หวัน’ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่รุนแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ” โดยระหว่างการเยือนดังกล่าว จีนได้จัดการฝึกซ้อมทางทหารโดยใช้กระสุนจริงในน่านน้ำที่กั้นระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และเกาะไต้หวัน
ปีนี้ รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้ระบุว่า คำมั่นสัญญาของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีต่อไต้หวันนั้น “มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง” ในช่วง 2-3 วันแรกหลังรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายไบเดน ไต้หวันได้แจ้งว่า มี “การรุกล้ำขนาดใหญ่” โดยเครื่องบินจีนเป็นเวลา 2 วัน จากนั้นในวันที่ 12 เม.ย. รัฐบาลไต้หวันระบุว่า จีนได้ส่งเครื่องบินรบจำนวนมากที่สุดในรอบ 1 ปีเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense Identification Zone–ADIZ) ของไต้หวัน
โดยพล.ร.อ. จอห์น อากีลีโน ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เตือนว่า การที่จีนบุกไต้หวัน “มีความใกล้ชิดกับเรามากกว่าที่คนส่วนใหญ่คิด” ล่าสุด เมื่อ 2 ต.ค. กระทรวงกลาโหมของไต้หวันรายงานว่า เครื่องบินทหารของจีน 38 ลำ บินเข้ามาในเขตป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันเมื่อ 1 ต.ค. ถือเป็นการรุกล้ำครั้งใหญ่ที่สุดของรัฐบาลจีนเท่าที่เคยมีมา
ใครที่ยอมรับไต้หวันบ้าง
มีความเห็นไม่ตรงกันและความสับสนว่า ไต้หวันเป็นอะไร จีนถือว่า ไต้หวันเป็นมณฑลที่แยกตัวออกไปของจีน ซึ่งจีนประกาศว่าจะนำไต้หวันกลับคืนมา และจะใช้กำลังถ้าจำเป็น แต่บรรดาผู้นำของไต้หวันระบุว่า เห็นได้ชัดว่า ไต้หวันเป็นมากกว่าแค่มณฑลหนึ่ง และระบุว่า ไต้หวันเป็นรัฐอธิปไตย ไต้หวันมีรัฐธรรมนูญของตัวเอง มีผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และมีทหารราว 300,000 นายประจำการอยู่ในกองทัพ
รัฐบาล ROC ของเจียง ไคเชก ซึ่งหนีจากแผ่นดินใหญ่ไปยังไต้หวันในปี 1949 ตอนแรกอ้างตัวว่า เป็นตัวแทนของจีนทั้งประเทศ ซึ่งรัฐบาล ROC ต้องการจะกลับไปยึดครองจีนอีกครั้ง นอกจากนี้ยังได้ที่นั่งของจีนในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วย ชาติตะวันตกหลายชาติยอมรับรัฐบาล ROC ว่าเป็นรัฐบาลจีนเพียงรัฐบาลเดียว แต่ในปี 1971 สหประชาชาติได้หันมายอมรับรัฐบาลจีนในทางการทูต และรัฐบาล ROC ถูกบีบให้ออกไป นับจากนั้นประเทศต่าง ๆ ที่ยอมรับรัฐบาล ROC ทางการทูตก็ลดน้อยลงอย่างรวดเร็วจนเหลือเพียง 15 ประเทศ การแบ่งแยกที่ชัดเจนระหว่างจุดยืน 2 อย่างนี้ ทำให้ประเทศส่วนใหญ่ดูเหมือนจะยินดีที่จะยอมรับความคลุมเครือที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งไต้หวันมีลักษณะเหมือนกับรัฐอธิปไตยทุกอย่าง แม้ว่าสถานะตามกฎหมายยังคงไม่ชัดเจนก็ตาม